4 เสาหลักของ Data เมือง

ภาพจาก : ทีม youpin.city
พื้นที่เมือง เป็นพื้นที่ มีการอยู่อาศัยของประชากรในระดับสูง และ มีความหนาแน่นของ ที่อยู่อาศัย การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การขนส่ง การใช้ที่ดิน และการสื่อสาร มีการคาดการว่า ภายใน 2 ทศวรรษ กว่าครึ่งของประชากรโลก จะอาศัยอยู่ในเมือง ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทำให้มีการจ้างงาน การศึกษา สันทนาการ และ ความบันเทิง ในพื้นที่เมืองในระดับสูงมาก
เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง เมืองที่ดีจำเป็นต้องมีการวางแผนการจัดการเมืองที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านผังเมือง การขนส่ง การจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การมีข้อมูล เพื่อการวางแผน และการตัดสินใจที่ดีของฝ่ายบริหารเมือง รวมทั้งข้อมูล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่อาศัยในเมือง
ข้อมูล (data) ของเมือง มีความเป็นพลวัตรสูง ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่จะ มาจาก 4 เสาหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
Opendata หรือ ข้อมูลแบบเปิดของเมือง
หลายเมือง มีการจัดทำชุดข้อมูลเปิดระดับเมือง เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อ เปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะการทำงานของหน่วยงานราชการในเมือง สู่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการให้สาธารณะรับทราบ ข้อเท็จจริงของเมือง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เชิงการวิเคราะห์ต่าง ๆ โดยเน้นการเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย โดยเฉพาะเข้าถึงแบบ online สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างทันที โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวด การบริการของเมือง การคลัง งบประมาณ การออกใบอนุญาตต่าง ๆ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การขนส่ง ความปลอดภัย และ แผนที่ต่าง ๆ
Automated Data หรือ ข้อมูลจากระบบอัตโนมัติ
เมืองในปัจจุบัน มีการพัฒนาเป็น Smart city โดยเฉพาะในยุคที่โครงข่ายโทรคมนาคม ในเมืองมีความครอบคลุม รวดเร็ว และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นระบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ อินเทอร์เน็ต ที่มีความสะดวก ทำให้อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องตรวจวัดอัตโนมัติ (automation sensor) ถูกติดตั้งมในเมืองมากขึ้น และเชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย หรือเรียกว่าเป็นอุปกรณ์ประเภท เรียกว่า Internet of Things (IoT) อุปกรณ์เหล่านี้ อาจเป็นที่คุ้นเคยของคนในเมือง เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) อย่างไรก็ตามยังมีอุปกรณ์ IoT ในเมืองที่ทำงานอยู่หลายหน้าที่ อาทิ การตรวจวัดมลพิษ การตรวจสอบระดับน้ำใน แม่น้ำ ลำคลอง การวัดปริมาณการจราจร การตรวจสอบความหนาแน่น หรือความเร็วของระบบขนส่งสาธารณะ การแจ้งการจัดเก็บขยะ เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ส่งข้อมูลแบบ real timeไปยังศูนย์ข้อมูลของเมือง เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ในการบริหารจัดการเมือง
Crowdsource Data หรือ ข้อมูลจากพลเมือง
แม้ว่าจะมีข้อมูลจาก หน่วยงานต่าง ๆ และข้อมูลจากอุปกรณ์ประเภท IoT ที่อยู่ในเมือง ข้อมูลที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง คือข้อมูลที่ได้จากพลเมือง ในปัจจุบันเกือบทุกคนจะมีอุปกรณ์ที่เป็น smart device อาทิ smart phone หรือ tablet ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน เพื่อใช้งานต่าง ๆ ซึ่งในหลายกรณี เมืองต่าง ๆ พัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของเมือง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ smart device สามารถทำน่าที่ส่งข้อมูลได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ หรือมีกรณีที่ต้องมีการยืนยันข้อมูล หรือการอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการรายละเอียด ที่ระบบอัตโนมัติยังไม่สามารถทำได้ อาทิ ถนน หรือ ทางเท้าที่ชำรุด การเปิดรับข้อมูลจากพลเมือง จะช่วยให้ข้อมูลของเมืองโดยเฉพาะปัญหาในเมือง ได้ถูกรายงาน และ พบเจออย่างรวดเร็วขึ้น รวมทั้งยังเป็นชุดข้อมูลที่ช่วยยืนยัน ความถูกต้อง ของข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ได้
Social Data หรือ ข้อมูลจากสิ่อสังคมออนไลน์
พื้นที่เมือง มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook Line หรือ Twitter เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ มากติดอันดับต้น ๆ ของโลก และโดยทั่วไป ผู้ใช้มักจะมีพฤติกรรมการโพสเนื้อหาลงใน สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องที่พบเจอในชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเมือง ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ หรือ การแชร์ปัญหาต่าง ๆ ที่หลายผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ คนอื่น ๆ ส่งมา ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์นี้ แม้ไม่ได้เชื่อมโยงกับ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่เป็นแหล่งข้อมูลที่ดี ในการตั้งต้นเพื่อการติดตามปัญหา หรือรวมรวมข้อเสนอต่าง ๆ ซึ่งระบบ (platform) ของสื่อสังคมออนไลน์ สามารถพัฒนาโปรแกรม ที่ดึงข้อมูลบางส่วนมาใช้ในการวิเคราะห์ได้ อาทิ #hashtag หรือ ตำแหน่งจากการที่ผู้ใช้ check-in หรือ การแสดงความเห็นของผู้ใช้ อาทิ การกด like บน Facebook เป็นต้น
หากเมืองใด สามารถทำงาน หรือ บริหารจัดการ data ทั้ง 4 ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนในเมือง ความเป็น Smart City จะเกิดขึ้นกับเมืองนั้นในทันที

ไกลก้อง ไวทยการ
Twitter : @klaikong