How Thailand Opendata

ข้อมูลประเทศไทย เปิดแค่ไหน
ไกลก้อง ไวทยการ
https://www.facebook.com/socialtechorth/
เป็นเวลาพอสมควรสำหรับประเทศไทยแล้ว ที่เราเริ่มพูดถึงข้อมูลเปิดหรือ Open Data โดยเฉพาะจากภาครัฐ ที่เป็นเจ้าของข้อมูล และเริ่มเห็นประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใส และในมิติของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทุกครั้งเมื่อเราถามหน่วยงานภาครัฐว่าอยากได้ อยากรู้ข้อมูล โน่นนี้ ส่วนใหญ่ภาครัฐจะบอกว่าให้ไปดู ไปดาวน์โหลด ในเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ ได้เลย ซึ่งมักจะเป็นรายงานหรือตัวเลขต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบ .pdf นำไปใช้งานต่อได้ยากมาก ๆ เป็นความเจ็บปวดในยุค Bigdata
อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้าน Open Data และการบริการภาครัฐที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์นั่นก็คือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้พัฒนาเว็บที่เป็นศูนย์รวม Open Data ภาครัฐขึ้นคือ data.go.th ซึ่งปัจจุบันมีชุดข้อมูลด้านต่าง ๆ อยู่ 915 ชุดข้อมูล ในรูปแบบที่ส่วนใหญ่เป็น machine readable data หรือข้อมูลที่นำไปใช้งานต่อได้ หรือประมวลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องขออนุญาตใด ๆ
แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่เปิด Open Data อื่น ๆ เช่น อังกฤษที่ 42,887 ชุดข้อมูล ออสเตรเลียที่ 49,800 ชุดข้อมูล หรือ อินโดนีเซียที่ 1,664 ชุดข้อมูล ในเชิงปริมาณประเทศไทยยังอยู่ห่างจากประเทศทั้งที่พัฒนาแล้ว และพี่ใหญ่อาเซียนอย่างอินโดนีเซียอย่างมาก

จากรูปคือเว็บ Open Data ของรัฐบาลออสเตรเลีย นอกจากจะมีชุดข้อมูลเกือบ 5 หมื่นชุด ยังมี API ให้นักพัฒนาต่อเชื่อมระบบโดยตรงกว่า 9 พัน API

data.go.th ศูนย์รวม Open Data ภาครัฐ ประเทศไทย
ในเชิงคุณภาพนั้น Open Data มีสำนักวัดผลหลัก ๆ อยู่ 2 สำนักเรียกว่าสำนักแรกเรียกผลสำรวจของตัวเองว่า Global Open Data Index (http://index.okfn.org/) ของ Open Knowledge Foundation สำนักนี้ดูชุดข้อมูลที่เปิดหลัก ๆ13 ตัวคือ1.สถิติแห่งชาติ 2.งบประมาณแผ่นดิน 3.การออกกฎหมาย 4.การจัดซื้อจัดจ้าง 5.ผลการเลือกตั้ง 6.แผนที่กลางของประเทศ 7.การพยากรณ์อากาศ 8.มลพิษ 9.การจดทะเบียนธุรกิจ 10.ชุดข้อมูลพิกัดภูมิศาสตร์ 11.คุณภาพน้ำ 12.การถือครองที่ดิน และ 13.การใช้จ่ายภาครัฐ และดูว่าเป็น Open Data ยังไงโดยดูจาก 1.เปิดลิขสิทธิ์การใช้งาน 2.เป็น machine readable 3.ฟรี 4.มีหลายชุดข้อมูล 5.ทันสมัย 6.เป็นข้อมูลออนไลน์ 7.เป็นดิจิทัล 8.ไม่ต้อง login 9.มีข้อมูลนั้น ๆ อยู่ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง สำหรับข้อมูล Global Open Data Index ปัจจุบันของปี 2016 โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือออสเตเลีย ส่วนประเทศไทยได้อันดับที่ 41 จาก 94 โดยชุดข้อมูล Open Data ที่เปิดเผยดีที่สุดคือชุดข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท

http://index.okfn.org/
ส่วนอีกสำนักเรียกผลสำรวจว่า OpenData Barometer (opendatabarometer.org) ของ World Wide Web Foundation ที่ก่อตั้งโดย Sir Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น World Wide Web ทาง OpenData Barometer ได้สำรวจเกี่ยวกับ OpenData ในด้าน การดำเนินการเปิดข้อมูลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ ผลกระทบ (impact) ของ Open Data ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ และภาคประชาสังคม ปัจจุบันยังเป็นผลสำรวจของปี 2015 เช่นกัน โดยประเทศไทยอยู่ที่ 62 จาก 92

opendatabarometer.org
จะเห็นว่าเรื่อง Open Data สำหรับประเทศไทยยังต้องทำงานกันอีกมาก หลายประเทศได้ประโยชน์จากการนำ Open Data ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรม อย่างเช่นเรื่อง smart city ในบทความก่อนหน้านี้ ดังนั้นการทำให้ข้อมูลเปิด โดยเฉพาะจากภาครัฐมาถึงสถานการณ์วันนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย หลาย ๆ เรื่องภาครัฐก็ทำแบบระบบปิด แต่ประเทศไทยวันนี้ก็ยังต้องคบค้าสมาคมกับนานาชาติ ดังนั้นตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่บอกมา ก็แสดงถึงว่าเราอยู่ตรงไหนของคำว่าเปิด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง วันนี้ก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่ร่วงลงไปกว่าเดิม และในอนาคตเราจะมี เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เปิดมากขึ้น