Civic Tech Thailand 4.0

Thailand 4.0 กับเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Tech)
ไกลก้อง ไวทยการ
https://www.facebook.com/socialtechorth/
ในยุคที่ Thailand 4.0 ถูกพูดกันเป็นรายวัน แต่สิ่งที่ดูจะหล่นหายไปในวาทกรรม 4.0 นั้น คือมิติด้านสังคม ที่ต้องเปิดกว้างพอที่จะทำให้คนคิดนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ รอบตัวได้ กรณีข้อถกเถียงของสังคม อย่างเข่น Uber AIrBnB หรือกระทั่ง พรบ.คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นว่า นวัตกรรมบนรัฐที่ปิดด้วยกรอบกฎหมายและแนวคิดที่เน้นความมั่นคง คงไปด้วยกันได้ไม่ไกล
แน่นอนว่า นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ต้องอยู่บนพื้นฐานของสังคมเปิด และรัฐที่มีความคิดเปิดกว้าง และรับฟังเสียงจากประชาชน (Open Government) รวมทั้งรับรู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนฝ่ายรัฐเองยังมีปัญหาตรงนี้อยู่
โชคดีที่ทุกวันนี้เทคโนโลยี ทำให้ภาคประชาชน สามารถริเริ่มสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวเองได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Social Network เทคโนโลยีถ่ายทอดสดต่าง ๆ ที่ทำได้ง่ายมาก รวมถึง Opendata และ Bigdata ที่ออนไลน์อยู่ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในหลาย ๆ ประเทศเทคโนโลยีได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาสนในมิติใหม่ ๆ ที่กว้างขวางกว่าเดิมมาก มีการตั้งกลุ่ม ลงมือทำกิจกรรมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อสร้างสังคม 4.0 ขึ้นมา ดังตัวอย่างนี้
กรณีศึกษาของไต้หวัน
ที่ไต้หวัน g0v (อ่านว่า Gov Zero) เป็นองค์กรที่เป็นลักษณะเครือข่าย มีการจัด Hackathon หลัก ๆ ทุก 2 เดือน มีคนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,300 คน โดยมีทั้ง โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ ภาคประชาสังคม และนักวิชาชีพต่าง ๆ โดยเริ่มทำกิจกรรม มาตั้งแต่ปี 2012 เน้นเรื่องการพัฒนา Open Source Software เพื่อขยายการมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านช่องทางดิจิทัล มีการทำ visulization งบประมาณของรัฐบาลไต้หวันมาตั้งแต่ปี 2012 นำไปสู่ระบบ Open Budget ของเทศบาลนครไทเป เพื่อแสดงการจัดสรรงบประมาณของเมือง และ ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการใช้งบประมาณได้


ที่ไต้หวันมีการใช้ดิจิทัลในการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งไม่ง่าย มีการพัฒนา crowd sourcing platform ที่เรียกว่า VTaiwan มีทั้งเรื่องการทำ poll ความเห็นของประชาชน การรายงานเรื่องต่าง ๆ จากประชาชน การติดตามโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ฯลฯ มีการใช้เครื่องมือนี้เพื่ออภิปรายความเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องการเข้ามาของ Uber

กรณีศึกษาของเม็กซิโก
เม็กซิโก มีกลุ่มกิจกรรม Civic Tech ที่ชื่อว่า Civica Digital ทีนนี้พัฒนา OpenData Portal ของเม็กซิโกซิตี้ชื่อ datos.labcd.mx มีการทำเครื่องมือ Opendata สำหรับประชาชนเพื่อมีส่วนร่วมกับนโยบายยุทธศาสตร์ดิจิทัลของประเทศ และทดลองใช้ OpenData ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
โครงการการมีส่วนร่วมกับของภาคประชาชนของเม็กซิโกชื่อ URBEM เป็นระบบประเมินการให้บริการของหน่วยงานรัฐผ่านระบบ chatbot ประชาชนสามารถส่งข้อมูลผ่าน chatbot เพื่อให้คะแนนความพึงพอใจในการใช้บริการหน่วยงานภาครัฐ และมีเว็บไซต์แสดงผลที่ประชาชนใน feedback หน่วยงานต่าง ๆ


กรณีศึกษาของเยอรมัน
เยอรมัน กิจกรรม Civic Tech ใช้ชื่อว่า Code for Germany ทำกิจกรรมในเมืองต่าง ๆ ทั่วเยอรมัน ที่เยอรมันถือหลักว่า “Innovation without Permission" โดยนำเอา Open Data ที่ออนไลน์อยู่แล้วแต่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้เท่าไหร่มา visualize ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ
เยอรมันสร้างเครื่องมือการมีส่วนร่วมที่ประกอบด้วยคนในชุมชน และสื่อ มีการสร้างระบบ crowdsource ตัวอย่างเช่นเมืองอุตสาหกรรมอย่าง Stuttgart แก้ปัญหามลพิษ โดยให้กลุ่ม Maker ทำ sensor วัดระดับมลพิษ และให้คนในชุมชนไปติดตามบ้านและส่งข้อมูลออนไลน์เพื่อแสดงระดับมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ ในเมือง เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน