Open Data เพื่อการเลือกตั้ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามโร้ดแมพที่ได้วางไว้ ทำให้ประเทศไทยเลี้ยวเข้าถนนสายประชาธิปไตยอีกครั้ง สิ่งที่น่าติดตามคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ คือเทคโนโลยี และ data จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งฝั่งพรรคการเมือง ผู้สมัคร ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งองค์กรที่ตรวจสอบการเลือกตั้ง ที่เป็นหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ อาสาสมัครที่เป็นเครือข่ายองค์พัฒนาเอกชน อาทิ อาสาสมัครองค์กรกลาง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เชื่อว่า กำลังเตรียมพร้อมกระบวนทัพทางดิจิทัลอยู่อย่างแน่นอน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เปิดเผย data การเลือกตั้งบนเว็บไซต์ http://opendata.ect.go.th/ โดยมีข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ของการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. การออกเสียงประชามติที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลพรรคการเมือง มาแสดงผลแบบ visualization ทำให้ข้อมูลดูน่าสนใจ และมีข้อมูลดิบ ที่สามารถดาวน์โหลดไปประมวลผลต่อได้ โดยเป็นการพัฒนาระบบร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
แน่นอนว่า การเปิดเป็น Open Data นั้นย่อมเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์สถิติ ของผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาในเขตต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่ควรเปิดเผยในรูปแบบ open data เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งกับพรรคการเมือง ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อาสาสมัครภาคประชาชน ที่ต้องการตรวจสอบการเลือกตั้ง สื่อมวลชน เว็บไซต์ Open Election Data Initiative ที่เป็นความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศคือ National Democratic Institute และ Google ได้พูดถึง Open Data ของการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะไว้ดังนี้
1.ข้อมูลกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2. ข้อมูลเขตการเลือกตั้ง 3. ข้อมูลกระบวนการจัดการเลือกตั้ง 4. ข้อมูลการจดทะเบียนพรรคการเมือง 5. การจัดคูหาการเลือกตั้ง 6. ข้อมูลการหาเสียงเลือกตั้ง และการใช้งบประมาณการหาเสียงการเลือกตั้ง 7. ข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 8. ข้อมูลบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 9. ข้อมูลการให้การศึกษาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10. ข้อมูลที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง 11. ข้อมูลผลการเลือกตั้ง 12. ข้อมูลการรายงาน ร้องเรียน และ ผลการสอบสวนที่เกี่ยวข้อง ในการเลือกตั้ง
ทำได้หมดถือว่ายอดเยี่ยมมาก แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ กกต. เริ่มต้นวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะหากในอนาคต หากมีข้อมูลมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของภาคประชาชนมากขึ้น อาทิ หากมีข้อมูลการหาเสียงเลือกตั้ง ของพรรคการเมือง หรือ นักการเมือง เราสามารถสร้างเครื่องมือที่ใช้ติดตามนโยบาย หรือคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองนั้นได้ ที่สหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์ชื่อ http://www.politifact.com/คอยติดตามว่านักการเมืองสัญญาอะไรไว้บ้างตอนหาเสียงแล้วทำตามหรือไม่
ข้อมูลผลการเลือกตั้งย้อนหลัง เป็นรายเขตเลือกตั้ง ก็ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า คนจังหวัดไหน ภาคไหน ถูกใจใคร หรือ นโยบายแบบไหน และ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ช่วยให้พรรคการเมือง หรือการทำข่าวการเมืองมีทิศทางมากขึ้น หรือการเปิดเผยจำนวนเงินที่ใช้ในการหาเสียงของนักการเมืองแต่ละคน ก็จะทำให้สามารถเปรียบเทียบระหว่าง ความน่าจะเป็นของงบที่ใช้จริงในสนามเลือกตั้ง กับงบที่รายงานมายัง กกต. เป็นต้น หรือกระทั้ง จำนวนการรายงานการทุจริต กับผลการสอบสวน ทั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไปหย่อนบัตรแล้วจบ แต่ต้องเป็น active citizen ในการสร้างการเมืองที่สะอาดขึ้น อย่างที่เราทุกคนอยากเห็น

ไกลก้อง ไวทยการ
https://www.facebook.com/socialtechorth/