Data for Disaster and Apps from Hackathon

Data เพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ไกลก้อง ไวทยการ
https://www.facebook.com/socialtechorth/
ในที่สุดก็เข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาคนที่อยู่ใน กทม. คงได้เข้าสู่วงจรชีวิตในช่วงฤดูฝน อย่างเต็มรูปแบบแล้วคือ ฝนตก น้ำรอระบาย รถติด หาแท๊กซี่ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็น วิถีชีวิตของคนกรุงเทพ ที่จำต้องเผชิญไปแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไร รอ กทม. สร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่ม คงอีกหลายปี ข่าวดีในยุคนี้คือ data ช่วยคุณวางแผนชีวิตในหน้าฝนอย่างนี้ได้ ไม่ใช่แค่คนเมือง แต่ทุกคนในประเทศนี้ก็ควรวางแผนรับมือหน้าฝน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่เมืองไทย เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มากที่สุด
ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกับเรื่องการเตรียมพร้อม และการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะด้านข้อมูล หรือ data ที่จะนำมาวางแผนรับมือภัยพิบัติ หน่วยงานหลัก ๆ ที่มีบทบาทในเรื่อง data คงหนีไม่พ้น กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้ง สำนักงานระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ของพวกเราด้วย
หน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลอะไรบ้าง แน่นอนว่ากรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากมีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อ Thai Weather ให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศทั่วประเทศ และภาพเรดาห์อัปเดตสถานการณ์ฝนแล้ว ยังเปิด API (Application Program Interface) ให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ เขียนโปรแกรมดึงข้อมูล มาใช้ประโยชน์ได้ สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร มีแอปพลิเคชั่นชื่อ ThaiWater ให้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำทั่วประเทศ ตั้งแต่ในเขื่อนจนถึงแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ กรมชลประทานเองก็มีข้อมูลน้ำในเขตชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีคลังข้อมูลสาธารณภัย และทำหน้าที่เตือนและรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ สุดท้ายคือสำนักระบายน้ำ มีข้อมูลรายงานน้ำท่วมขัง เขียนถึงตรงนี้ถ้าใครมาบอกว่าเมืองไทย ไม่มีข้อมูลภัยพิบัติคงไม่ได้
ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ที่เราไม่มีข้อมูล แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลนั้นแล้ว ในบทความนี้ผมคงไม่เขียนบอกว่า ภาครัฐว่าต้องทำอย่างไรกับข้อมูล ในยุค 4.0 ของไทยประชาชนต้องพึ่งพาตัวเองเป็นอันดับแรก ดังนั้นเมื่อรัฐมีและเปิดข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ เราเองก็ต้องรู้จักการใช้ข้อมูลนั้น ร่วมกับข้อมูลที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วคือข้อมูลจากสื่อสังคม ทั้ง Facebook Line และ Twitter ทางที่ถูกต้องคือรับข้อมูลและนำมาเทียบกันทั้งข้อมูลทางการ และข้อมูลสื่อสังคม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของเรา อาทิ ก่อนออกจากบ้าน ลองเช็คภาพเรดาห์จากแอป ThaiWather ว่ามีกลุ่มฝนมั้ย บวกกับใน Facebook ว่ามีเพื่อนเราบ่นว่าฝนตกที่ไหนบ้าง หรือเส้นทางที่เราจะไปน้ำท่วมมั้ย ถึงตรงนี้ยังดูเยอะอยู่ โชคดีที่ปัจจุบันมีเหล่านักพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สนใจในปัญหาภัยพิบัติ ได้ลองเอาข้อมูลที่เป็น Opendata จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมาทดลองทำต้นแบบแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ชีวิตโดยเฉพาะคนในเมืองมีข้อมูลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
โดยต้นแบบแอปพลิเคชั่นนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือในชื่อ Emergency Disaster Mitigation Hackathon โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานรัฐบาลอิล็กทรอนิกส์ (EGA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มูลนิธิเอเชีย และ Social Technology Institute โดยรวบรวมข้อมูลที่เป็น Opendata ภาครัฐจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแสดงผลให้ผู้ใช้ตัดสินใจ อาทิ เว็บแอปพลิเคชั่น http://www.varee.info/รวบรวมข้อมูลจาก sensor วัดระดับน้ำท่วมขังของ กทม. แสดงผลพร้อมภาพจาก cctv ดูสภาพถนนสด ๆ มีการแสดงข้อมูลอัปเดต #น้ำท่วมจาก Twitter รวมถึงระบบ chatbot ถามสถานการณ์ในเส้นทางที่ต้องการไป ส่วนข้อมูลภัยพิบัติระดับประเทศสามารถดูและสมัครรับข้อมูลได้ที่ http://www.safetyalert.me/เว็บนี้นอกจากมีข้อมูลเรื่องฝนตกหนักที่ไหนบ้างในรอบวัน ยังมีข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย อีกปัญหาหนึ่งที่เผชิญกันในฤดูแล้งที่ผ่านมา คือปัญหาหมอกควัน นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นในงานนี้ทำต้นแบบที่ชื่อว่า https://whenbreathing.com/ให้ข้อมูลสภาพมลพิษทางอากาศที่เข้าใจง่ายกับทุกคน

ตัวอย่างหน้าจอจาก เว็บแอปพลิเคชั่น http://www.varee.info/

ตัวอย่างหน้าจอจาก เว็บแอปพลิเคชั่น https://whenbreathing.com/

ตัวอย่างหน้าจอจาก เว็บแอปพลิเคชั่น http://www.safetyalert.me/
จะเห็นว่า การที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับข้อมูล (data) ภัยพิบัติ และเปิดข้อมูลนั้น ทำให้นักออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชั่นมาช่วยพัฒนาแอป หรือเกิดนวัตกรรมต่อยอดที่ทำให้เรามีข้อมูลที่ง่ายและรวดเร็วต่อการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการที่ต้องเข้าดูเว็บ หรือ แอปมือถือหลาย ๆ แอป ตัวแบบแห่งความสำเร็จแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จากการแยกส่วนทำงาน แต่ต้องเป็นการสร้างงานร่วมกกัน (co-create) ระหว่างภาครัฐที่มีข้อมูล ภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยี และภาคประชาชนผู้สนับสนุนข้อมูลในพื้นที่ผ่านสื่อสังคมต่าง ๆ สุดท้ายขอให้เราผ่านหน้าฝนนี้ไปด้วยความสดชื่น